วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ขยายความมงคล ๓๘ ข้อ ข้อ ๑๖-๒๐



๑๖.  การประพฤติธรรม 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๑๖  การประพฤติธรรม  เป็นอุดมมงคล  การประพฤติธรรมคือ  การประพฤติ
ดีประพฤติชอบทางกาย วาจา ใจ  อันได้แก่ประพฤติอยู่ในกุศลกรรมบถ  ๑๐  ประการหรือสุจริตกรรม  ๑๐  ประการ คือ
    ๑.  งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ทั้งด้วยตนเองและใช้ผู้อื่นฆ่า
    ๒.  งดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่อนุญาต
    ๓.  งดเว้นจากการประพฤติประเวณี
    ๔.  งดเว้นจากการพูดเท็จ
    ๕.  งดเว้นจากการพูดส่อเสียด
    ๖.  งดเว้นจากการพูดคำหยาบ
    ๗.  งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระ
    ๘.  ไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่นมาเป็นของตน
    ๙.  ไม่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น
    ๑๐.  มีความเห็นถูกตรง  ไม่เห็นผิดเป็นมิจฉาทิฎฐิ   คือมีความเห็นว่ามารดาบิดามีคุณ นรกสวรรค์มี
จริง เป็นต้น

    การประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนี้  จัดเป็นอุดมมงคลเพราะเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุฌาน  มรรค
ผล  นิพพานในชาตินี้หรือชาติหน้า   เป็นปัจจัยให้เกิดแต่ในสุคติโลกสวรรค์เท่านั้น   หากยังไม่ปรินิพพานไปเสีย
ก่อน
    ด้วยเหตุนี้การประพฤติธรรมจึงเป็นอุดมมงคล

๑๗.  การสงเคราะห์ญาติ 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๑๗  การสงเคราะห์ญาติ  เป็นอุดมมงคล  ญาติคือผู้ที่เกี่ยวข้องผูกพันกับเราทาง
มารดาบิดา  เมื่อเวลามีทุกข์เดือดร้อน  เราสามารถจะสงเคราะห์เขาด้วยอามิสมีข้าวของ เงินทอง เสื้อผ้า เครื่อง
ใช้ต่างๆ  เป็นต้น  หรือสงเคราะห์ด้วยธรรม  ให้เขาเชื่อกรรมและผลของกรรม  หรือแนะนำให้เขาได้บำเพ็ญกุศล
คือทาน  ศีล  ภาวนา  ฟังพระธรรมเทศนา  อันจะทำให้เขาเข้าใจความเป็นไปของชีวิตว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็น
ของตนเอง  เขาทำกรรมมาอย่างใด  ย่อมได้รับผลอย่าวนั้นอันจะช่วยให้เขาบรรเทาความทุกข์โศกลงได้บ้าง
    การสงเคราะห์ญาติจึงเป็นอุดมมงคล

๑๘.  การงานที่ไม่มีโทษ 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๑๘  การงานไม่มีโทษเป็นอุดมมงคล  กุศลทั้งหมดที่เป็นไปทางกาย  ไม่ว่าจะ
เป็น  การให้ทาน   รักษาศีล   การช่วยกิจการงานของผู้อื่น   การปลูกป่า   การสร้างสะพาน   การสร้างวัดวาอาราม 
เป็นต้น  ชื่อว่าการงานไม่มีโทษทั้งสิ้นจัดเป็นอุดมมงคล  เพราะเป็นเหตุให้ถึงสุคติโลกสวรรค์  ตลอดจนเป็นปัจจัย
แก่มรรค  ผล  นิพพานด้วย  เหมือนอย่างบุรุษเข็ญใจคนหนึ่งเป็นตัวอย่าง

    ในอดีตกาลนานมาแล้ว  บุรุษเข็ญใจคนหนึ่งอาศัยอยู่กับอุปัฏฐากผู้เที่ยวป่าวประกาศให้คนทำบุญ  บุรุษ
นั้นเลื่อมใสในการกระทำนั้น   จึงเที่ยวป่าวประกาศให้คนทั้งหลายมาทำบุญ    พระราชาทอดพระเนตรเห็นคนมา
ทำบุญกันมาก  จึงตรัสถามราชบุรุษ  ราชบุรุษกราบทูลให้ทราบว่ามีบุรุษเข็ญใจคนหนึ่งได้ไปเที่ยวป่าวร้องชักชวน
ให้คนมาทำบุญ   พระราขาทรงเลื่อมใสประทานรางวัลให้เขา   เขาก็เที่ยวป่าวร้องไปทั่ว   คนทั้งหลายก็มาทำบุญ
มากกว่าเดิม   พระราชาจึงประทานช้างแก่เขา   เขาก็ขี่ช้างป่าวร้อง   ให้คนมาทำบุญ  ด้วยอานุภาพของการเที่ยว
ป่าวร้องให้คนมาทำบุญนี้เอง   ปากของเขาจึงมีกลิ่นหอมดังดอกอุบล   ตายไปได้บังเกิดในวิมานทองชั้นดาวดึงส์
เสวยสุขอันเป็นทิพย์   มาในสมัยของพระพุทธเจ้าของเรานี้   เขามาเกิดเป็นอำมาตย์ของพระเจ้าปเสนทิโกศล 
ชื่อว่า  สันตติมหาอำมาตย์  ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระโลกนาถ  บรมศาสดาแล้วก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

    การทำการงานอันไม่มีโทษ  มีการป่าวร้องให้คนทั้งหลายมาทำบุญก็ยังมีอานิสงส์ใหญ่หลวงถึงเพียงนี้ 
ด้วยเหตุนี้การทำการงานอันไม่มีโทษจึงเป็นอุดมมงคลอย่างนี้

๑๙.  การงดเว้นจากบาป 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๑๙  การงดเว้นจากบาปเป็นอุดมมงคล  คำว่าบาป  ได้แก่อกุศลทุจริตทุกอย่าง
ที่ให้ผลเป็นทุกข์  มีการฆ่าสัตว์  เป็นต้น  บุคคลที่เห็นโทษของบาป  ไม่ยินดีในบาป  ย่อมจะละอาย และเกรงกลัว
บาป   ไม่กล้าทำบาป   เพราะเกรงผลของบาปที่จะติดตามมา  มีการถูกนินทา   เป็นต้นในปัจจุบัน  มีการเกิดใน
อบายเป็นสัตว์นรก   เป็นเปรต   เป็นอสุรกาย   เป็นสัตว์เดรัจฉานในอนาคต   เมื่อละอายบาปและเกรงกลัวบาปก็
ย่อมงดเว้นจากบาป  ทำแต่บุญคือสุจริตกรรม  มีการงดเว้นจากฆ่าสัตว์  เป็นต้น

    การงดเว้นจากบาปนี้  จะงดเว้นด้วยการสมาทาน   มีการสมาทานศีล ๕  ศีล ๘  ศีลอุโบสถจากพระ
ท่านก็ได้   หรือตั้งใจงดเว้นด้วยตนเองก็ได้   ซึ่งเมื่อมีเหตุที่จะทำให้ล่วงละเมิดศีลเกิดขึ้น   ก็เกิดความละอาย 
งดเว้นเสียได้   ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระโสดาบัน เป็นต้น  ท่านงดเว้นจากบาปอันเป็นเวรภัย ๕ ประการ 
มีการฆ่าสัตว์เป็นต้นได้โดยเด็ดขาด  เป็นสมุจเฉทวิรัติโดยไม่ต้องสมาทาน  ด้วยอำนาจอริยมรรคที่ท่านได้

    การงดเว้นจากบาปจึงเป็นเหตุให้เกิดความสุขความเจริญทั้งโลกนี้และโลกหน้า  เป็นเหตุให้ละเวรภัย
ทั้งปวง  และเป็นเหตุให้บรรลุคุณวิเศษมีมรรค  ผล  นิพพานได้ด้วย  ดังเรื่องของอุบาสกคนหนึ่งเป็นตัวอย่าง

    เล่ากันมาว่าอุบาสกคนหนึ่งอยู่ในบ้านทันตคาม  ใกล้ภูเขาได้สมาทานศีล   จากพระปิงคลพุทธรักขิต 
ที่อยู่ในอัมพริยวิหาร   ครั้นสมาทานศีลแล้วก็ไปไถนา   ไถนาแล้วก็ปล่อยโคไปกินหญ้า  โคเที่ยวไปกินหญ้าแล้ว
หายไป   อุบาสกนั้นเที่ยวตามหาโคขึ้นไปบนภูเขา  ถูกงูเหลือมตัวใหญ่เลื้อยมารัดเขาไว้เพื่อกินเป็นอาหาร  เขา
มีมีดเล่มหนึ่งอยู่ในมือ  คิดจะฟันงูนั้นให้ตายแต่ก็กลัวศีลจะขาด  เมื่องูนั้นรัดแน่นเข้าๆ  เขาจึงคิดว่าถ้าเขาฆ่างู 
งูก็ตาย   ศีลเราก็ขาด  อย่ากระนั้นเลยเรายอมตายแต่ไม่ยอมศีลขาด  คิดแล้วก็ขว้างมีดทิ้งไป  ตั้งจิตคิดถึงศีลที่
ตนรักษาเป็นอารมณ์   ด้วยอานุภาพแห่งศีลที่ตนรักษาดีแล้ว   บันดาลให้กายของอุบาสกนั้นร้อนดังไฟ   งูนั้นทน
ความร้อนไม่ได้ก็คลายตัวจากอุบาสกนั้นเลื้อยเข้าไปในป่า  อุบาสกนั้นก็รอดชีวิตกลับมาด้วยอานิสงส์ที่ศีลบริสุทธิ์
ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาศีลไว้   เพราะฉะนั้นเมื่อมีโอกาสเกิดเป็นมนุษย์แล้วจึงควรรักษาศีลให้บริสุทธิ์   เพราะศีล
ที่รักษาดีแล้ว  เป็นปัจจัยให้ถึงสุคติและมรรค ผล นิพพาน

    ด้วยเหตุนี้การงดเว้นจากบาป  ด้วยการรักษาศีลเป็นต้น  จึงเป็นอุดมมงคล

๒๐.  การสำรวมจากน้ำเมา 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๒๐  การสำรวมจากน้ำเมาเป็นอุดมมงคล   น้ำเมานั้นท่านหมายถึงสุราและ
เมรัย  เป็นต้น  เมรัยได้แก่น้ำเมาที่เกิดจากการหมักดอง  เช่น  เมรัยที่ได้จากการหมักดองดอกไม้  และผลไม้  เป็นต้น

    ในสมัยก่อน  ท่านบัญญัติน้ำเมาไว้เพียงสุราและเมรัยเท่านั้น  แต่ปัจจุบันของมึนเมาที่มีโทษร้ายแรง
กว่าสุราและเมรัยมีมาก  เช่น  ผงขาว  เฮโรอีน  ยาม้า เป็นต้น  ก็สงเคราะห์เข้าในน้ำเมาด้วย  เพราะเป็นเหตุที่
ตั้งแห่งความประมาท  ขาดสติ  เมื่อประมาทขาดสติ   ก็สามารถจะทำบาปกรรมทุกอย่างได้โดยปราศจากความ
ละอาย  แม้การฆ่ามารดาบิดาและบุตรภรรยาอันเป็นที่รัก  ดังเรื่องนี้เป็นตัวอย่าง

    ในอดีตกาลนานมาแล้ว  พระราชาเมืองพาราณสีองค์หนึ่งเป็นคนไม่มีศีล  เสวยแต่สุราเมรัย  แกล้ม
กับเนื้อ   วันใดใม่มีเนื้อพระองค์จะไม่เสวยพระกระยาหารเลย   วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถไม่มีใครฆ่าเนื้อ   พ่อครัว
ร้อนใจที่ไม่มีเนื้อถวาย  จึงเข้าไปกราบทูลพระอัครมเหสีให้ทรงทราบ   พระนางจึงตรัสว่า  ถ้าเช่นนั้นเมื่อจะนำ
พระกระยาหารเข้าไปถวายเราจะพาพระโอรสเข้าไปเฝ้าก่อน  ด้วยว่าพระโอรสเป็นที่รักสนิทเสน่หาของพระราชา 
พ่อครัวก็ทำตาม   ครั้นถึงเวลาอาหาร  พระอัครมเหสีก็ทรงนำพระโอรสเข้าไปก่อน  ขณะนั้นพระราชากำลังทรง
เมาสุเรา  ทอดพระเนตรเห็นพระโอรสก็ทรงอุ้มขึ้นประทับบนพระเพลาเชยชมด้วยความรัก   ครั้นพ่อครัวนำพระ
กระยาหาร   จึงตรัสถามพ่อครัว  พ่อครัวกราบทูลว่า  วันนี้เป็นวันอุโบสถหาเนื้อไม่ได้  พระเจ้าข้า  พระราชาด้วย
ความเมา   จึงทรงจับพระโอรสหักคอโยนให้พ่อครัว  รับสั่งให้ไปแกงเนื้อมาถวาย   พ่อครัวก็เอาเนื้อพระโอรสไป
แกงมาถวายให้เสวย  ครั้นเสวยแล้วก็บรรทมหลับไปตลอดราตรี  รุ่งเช้าสร่างเมาทรงเรียกหาพระโอรส  พระอัคร
มเหสีทรงกรรแสงทูลว่า พระโอรสถูกพระองค์หักคอตายตั้งแต่เมื่อวานนี้  ประทานให้พ่อครัวไปแกงเนื้อ  พระราชา
ทรงสดับแล้วทรงปริเทวนาการรำพันถึงพระโอรส  เมื่อทรงคลายความโศกแล้วทรงอธิษฐานว่า  ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป 
พระองค์จะไม่เสวยน้ำจัณฑ์อีก

    นี่ก็คือโทษของการดื่มน้ำเมา  เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสว่า  การสำรวม (คืองดเว้น)  จากการดื่มน้ำเมา  จึงเป็นอุดมมงคล

http://www.96rangjai.com/merit/sacredlife.html#28