วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ขยายความมงคล ๓๘ ข้อ ๓๑-๓๘


ขยายความมงคล  ๓๘ ข้อ  

๓๑.  ความเพียรเผากิเลส 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๓๑  ตโป  ความเพียรเป็นความเพียรเผากิเลส  เป็นอุดมมงคล

    ชื่อว่า  ตบะ  เพราะเผาบาปธรรมทั้งหลาย  อินทรียสังวร  การสำรวมอินทรีย์ก็ดี  วิริยะความเพียรที่
เป็นกุศลก็ดี  ชื่อว่า  ตบะ

    อินทรียสังวร  ชื่อว่า  ตบะ  เพราะป้องกันจิตไม่ให้ตกไปในความยินดีและยินร้าย  การมีสติระลึกรู้อยู่
ในลักษณะของรูปนาม  ที่มาปรากฎทาง  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  และใจ  ชื่อว่าอินทรียสังวร  การสำรวมอินทรีย์

    วิริยะ  ความเพียรนั้นมีทั้งเพียรในกุศลและอกุศล  ความเพียรในกุศลเท่านั้นจัดเป็นตบะ  เพราะเผา
อกุศล  ทำให้กุศลเจริญขึ้น

    ตัวอย่างของผู้ไม่สำรวมอินทรีย์มีโทษอย่างไร  พีงเห็นได้จากเรื่องนี้

    สามเณรรูปหนึ่งได้ฌานสมาบัติ   เวลาไปบิณฑบาตก็เหาะไป   วันหนึ่งเหาะมาลงที่บ้านของนายช่าง
หูก  ได้เห็นธิดาของนายช่างหูกมีรูปร่างหน้าตางดงาม  มิได้สำรวมตาได้มองดูเธอด้วยความกำหนัดยินดี  เป็น
เหตุให้กามราคะ  ความยินดีในกามเกิดขึ้น  ฌานจึงเสื่อม  ไม่อาจเหาะกลับไปยังสำนักได้  นี่คือโทษของความ
ไม่สำรวมอินทรีย์คือตา

    เพราะฉะนั้นการสำรวมอินทรีย์คือตา  เป็นต้นจึงจัดเป็นตบะ  เครื่องเผาบาปธรรม  จัดเป็นอุดมมงคล
ประการหนึ่ง

๓๒.  การประพฤติพรหมจรรย์ 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๓๒  พรหมจรรย์เป็นอุดมมงคล  พรหมจรรย์หมายถึงความประพฤติประเสริฐ 
ในที่นี้หมายถึงการเว้นจากเมถุนธรรม ๑  สมณธรรม ๑  ศาสนาคือคำสอนของพระพุทธเจ้า ๑  และมรรคอีก ๑

    บางแห่งท่านกล่าวว่า  พรหมจรรย์มี ๑๐ อย่างคือ
    ๑.  ทาน  การให้ข้าว  น้ำ  เป็นต้น
    ๒.  เวยยาวัจจะ  การช่วยเหลือในกิจการที่เป็นกุศลด้วยความเต็มใจ
    ๓.  ศีล ๕  มีการไม่ฆ่าสัตว์  เป็นต้น
    ๔.  อัปมัญญา  การเจริญพรหมวิหาร ๔  มีเมตตา  กรุณา  มุทิตา  อุเบกขา
    ๕.  เมถุนวิรัติ  การไม่เสพเมถุน
    ๖.  สทารสันโดษ  คือการยินดีเฉพาะคู่ครองของตน  (ยินดีแต่สามีภรรยาของตน)
    ๗.  วิริยะ  ความเพียรในการทำกุศล
    ๘.  อุโบสถศีล  การรักษาอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘
    ๙.  อริยมรรคมีองค์ ๘  มีสัมมาทิฏฐิ  จนถึง  สัมมาสมาธิ
    ๑๐.  ศาสนา  คำสอนของพระพุทธเจ้า
    ทั้ง ๑๐ อย่างนี้เรียกว่าพรหมจรรย์  เพราะเป็นความประพฤติอันประเสริฐจัดเป็นอุดมมงคล  คือเป็น
เหตุให้เกิดความเจริญและได้รับคุณวิเศษนานาประการ

๓๓.  การเห็นอริยสัจ 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๓๓  การได้เห็นอริยสัจเป็นอุดมมงคล  การเห็นแจ้งแทงตลอด  อริยสัจ ๔ 
คือ  ทุกข์   สมุทัย  นิโรธ  และมรรค   ด้วยอริยปัญญานั้นเป็นการเห็นแจ้งที่เกิดขึ้นเมื่ออริยมรรคทั้ง    องค์มี
สัมมาทิฏฐิ  เป็นต้น  มาประชุมพร้อมกันเป็นมรรคสมังคี  ทำลายกิเลสให้ขาดจากสันดานก้างล่วงวัฏทุกข์เสียได้
จัดเป็นการเห็นอย่างยอดเยี่ยม

๓๔.  การทำนิพพานให้แจ้ง 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๓๔  การทำนิพพานให้แจ้งเป็นอุดมมงคล  มงคลข้อนี้สืบต่อมาจากมงคล
ข้อที่ ๓๑, ๓๒  และ ๓๓  เพราะบุคคลจะทำนิพพานให้แจ้งได้  ก็เพราะเพียรประพฤติมรรคพรหมจรรย์  จนเห็น
แจ้งอริยสัจ 

    การทำนิพพานให้แจ้งนั้น  ทำให้พ้นจากคติทั้ง    คือนิรยคติ  เปตคติ  ดิรัจฉานคติ  มนุสสคติ  และ
เทวคติ  ตลอดจนก้าวพ้นจากตัณหาเครื่องร้อยรัดได้  เพราะฉะนั้นการทำนิพพานให้แจ้ง  จึงเป็นอุดมมงคล

๓๕.  จิตไม่หวั่นไหวเมื่อถูกโลกธรรมกระทบแล้ว 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๓๕  จิตของบุคคลใดไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมทั้งหลายที่ถูกต้องคือ
มากระทบแล้วเป็นอุดมมงคล

    คำว่า  โลกธรรม  ได้แก่ธรรมดาโลก  กล่าวคือโลกยังดำรงอยู่ตราบใด  ธรรมของโลกเหล่านี้ก็คง
เป็นไปคือหมุนไปตามโลกตราบนั้น  โลกธรรมนั้นมี ๘ อย่างคือ  ลาภ  ยศ  สรรเสริญ  สุข  เสื่อมลาภ  เสื่อมยศ 
นินทา  ทุกข์  โลกธรรมทั้ง ๘  นี่ย่อมติดตามโลกคือสัตว์โลกไปเป็นธรรมดา ไม่เว้นแม้แต่พระพุทธเจ้าและพระ
อริยเจ้าทั้งปวง  เพียงแต่ว่าเมื่อใครถูกโลกธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องแล้ว   จะมีจิตหวั่นไหวหรือไม่   คำว่า
ไม่หวั่นไหวนั้นหมายถึง  ไม่ยินดี  เมื่อได้มา  และเดือดร้อนใจเมื่อเสื่อมไป   พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านไม่ยินดี
เมื่อได้ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข  และไม่เดือดร้อนใจ  เมื่อเสื่อมลาภ  เสื่อมยศ  ถูกนินทา  และได้รับความทุกข์ 
ทั้งนี้เพราะท่านมองสิ่งเหล่านั้นตามความเป็นจริงว่า  สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง  เป็นทุกข์คือทนอยู่ไม่ได้  เป็นอนัตตา
ไม่อยู่ในอำนาจของผู้ใด  ท่านจึงไม่หวั่นไหว  ถึงกระนั้นพระอริยเจ้าที่ยังมิใช่พระอรหันต์บางท่าน  ก็ยังหวั่นไหว
ในโลกธรรมบางอย่าง ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมบางอย่าง  พระอรหันต์จำพวกเดียวเท่านั้นที่มั่นคง  ไม่หวั่นไหว
ในโลกธรรมทั้ง ๘ อย่างแท้จริง

    ขอยกตัวอย่างความไม่หวั่นไหวของพระอรหันต์ท่านหนึ่งดังนี้

    ได้ยินมาว่าท่านพระอนุรุทธะ องค์อรหันต์ผู้เป็นเลิศในฝ่ายตาทิพย์ วันหนึ่งท่านเดินทางไกลจะไปเมือง
สาวัตถี  ใกล้ค่ำจึงแวะพักที่โรงพักหน้าบ้านของหญิงหม้ายคนหนึ่ง  หญิงหม้ายนั้นเห็นท่านพระอนุรุทธะมีรูปร่าง
งามก็ชอบใจใคร่จะได้เป็นสามี   จึงนิมนต์ท่านให้ขึ้นไปพักบนหอนั่ง  อันเป็นที่สบาย   เมื่อพูดจาประเล้าประโลม
ท่าน  ตั้งแต่พลบค่ำไปจนใกล้รุ่ง  จิตของท่านพระอนุรุทธะก็มิได้หวั่นไหว  หญิงหม้ายเห็นว่าไม่อาจทำให้พระเถระ
หวั่นไหวได้ ก็เกิดความละอายใจ  ประนมมือไหว้ขอขมาท่าน  ท่านก็ยกโทษให้

    เพราะฉะนั้น  ผู้ที่ถูกโลกธรรม ๘  กระทบแล้วไม่หวั่นไหวจึงเป็นอุดมมงคล

๓๖.  ความไม่เศร้าโศก 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๓๖  ความไม่เศร้าโศกเป็นอุดมมงคล  โดยปกติพระอนาคามีท่านเป็นผู้
ปราศจากความโศกแล้วโดยสิ้นเชิง  เพราะท่านละโทสะอันเป็นรากเหง้าของความโศกได้แล้วด้วยอนาคามิมรรค 
แต่ในมงคลข้อนี้ท่านมุ่งเอาจิตของพระอรหันต์เท่านั้นว่าไม่มีความเศร้าโศก

    บุคคลธรรมดาที่มิใช่พระอรหันต์  เมื่อกระทบกับอารมณ์อันไม่ชอบใจ  แล้วระงับความเศร้าโศกเสีย
ใจได้  ก็ยังเป็นมงคล  ดังเรื่องนี้

    พราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง  ทำนาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำอจิรวดี  ครั้นข้าวแก่พอจะเกี่ยวได้  ก็เตรียม
ผู้คนที่จะเก็บเกี่ยวในวันรุ่งขึ้น   แต่คืนนั้นเกิดฝนตกหนัก  น้ำในแม่น้ำอจิรวดีไหลบ่ามาท่วมนา   และพัดพาเอา
ข้าวกล้าไปหมด  พราหมณ์เศร้าโศกเสียใจ   ร้องไห้ไม่เป็นอันกินอาหาร   พระบรมศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยแห่ง
มรรคผลของพราหมณ์  จึงเสด็จมาที่บ้านของพราหมณ์แต่พระองค์  พราหมณ์เห็นแล้วก็ทูลนิมนต์พระศาสดา
ขึ้นประทับบนเรือนถวายบังคม   พระศาสดาทรงแสดงธรรมดับความโศกของพราหมณ์   มีอาทิว่า   สังขารทั้ง
หลายทั้งภายในทั้งภายนอก  ทั้งมีวิญญาณครองและไม่มีวิญญาณครองล้วนไม่เที่ยง  มีความแปรปรวนไปเป็น
ธรรมดา  ตัวของเรายังไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามใจเราได้  ทั้งที่เรามีจิตวิญญาณแล้วเราจะไปหวังให้สิ่งที่ไม่
มีจิตวิญญาณ  รับรู้อะไรไม่ได้ให้เป็นไปตามใจของเราได้อย่างไร  สิ่งทั้งหลายไม่อยู่ในอำนาจของใคร  พราหมณ์
ได้ฟังแล้วก็คลายโศก  น้อมใจลงสู่ไตรลักษณ์ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน  คนที่เสื่อมลาภที่ยังเป็นปุถุชนย่อมเศร้า
โศกอย่างนี้  แต่เพราะได้ฟังพระธรรมเทศนา  ละความโศกได้ในขณะนั้น  จึงสามารถบรรลุเป็นพระโสดาบันได้ 
นี่คือคุณของความไม่เศร้าโศก

    ความไม่เศร้าโศกจึงเป็นอุดมมงคลอีกประการหนึ่ง

๓๗.  จิตที่ปราศจากธุลี คือกิเลส 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๓๗  จิตที่ปราศจากธุลีคือกิเลสเป็นอุดมมงคล ซึ่งท่านก็หมายเอาจิตของ
พระขีณาสพ  คือพระอรหันต์เท่านั้น  เพราะจิตของพระอรหันต์เป็นจิตที่ปราศจากธุลีคือกิเลส  มีราคะ  โทสะ 
โมหะ  เป็นต้น

    ขอยกตัวอย่างคนที่ยังมีกิเลสว่ามีโทษเพียงไร

    ชาย ๒ คนพี่น้อง น้องชายเกิดเป็นชู้กับภรรยาของพี่ชาย  ภรรยายุยงให้ฆ่าพี่ชายเสีย พี่ชายนั้นยังรัก
ภรรยาอยู่  ตายไปจึงเกิดเป็นงูเขียวอยู่ที่เรือนของตน  ภรรยาอยู่ที่ไหน  งูนั้นก็ไปอยู่ใกล้ๆด้วยความรัก  ภรรยาก็
ฆ่างูตาย  งูไปเกิดเป็นสุนัขในเรือนด้วยความรักภรรยา  เวลาภรรยาไปไหนก็ติดตามไปด้วย  จนเป็นเหตุให้ชาว
บ้านเยาะเย้ย   หญิงนั้นเกิดความอาย   จึงใช้อุบายฆ่าสุนัขเสีย  สุนัขยังรักภรรยาอยู่   ตายแล้วไปเกิดเป็นโคใน
บ้านนั้น  เมื่อโตก็ติดตามภรรยาไปนาอยู่เสมอ  เป็นที่เย้ยหยันของเพื่อนบ้าน  หญิงนั้นได้รับความอาย  จึงฆ่าโค
นั้นเสีย   ถึงอย่างนั้นโคก็ยังไม่คลายความรักที่มีต่อภรรยา   จึงได้เกิดเป็นลูกของหญิงนั้น   เมื่อคลอดแล้วระลึก
ชาติได้ว่า  หญิงนี้ได้ฆ่าเรามาแล้วหลายชาติ  จึงไม่ให้หญิงนั้นซึ่งเป็นมารดาในชาตนี้ถูกต้องตัว  ยายกับตาต้อง
เอาไปเลี้ยงไว้  ครั้นโตขึ้นก็เล่าเรื่องราวในอดีตชาติให้ฟัง  คนทั้งหลายได้ฟังแล้วก็สลดใจ  เมื่อเด็กโตขึ้น  ตาก็
พาหลานไปสู่วิหารแห่งหนึ่ง  แล้วทั้งตาและหลานก็ออกบวชตั้งใจเจริญสมณธรรมจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งคู่

    การมีกิเลสจึงเดือดร้อน  ปราศจากกิเลสจึงเป็นสุขอย่างยิ่ง

    ด้วยเหตุนี้  จิตที่ปราศจากธุลีคือกิเลส  จึงเป็นอุดมมงคล

๓๘.  จิตที่เกษมจากโยคะ 

    ขยายความมงคลข้อที่ ๓๘  จิตที่เกษมจากโยคะเป็นอุดมมงคล ในข้อนี้ท่านก็หมายถึงจิตของพระ
อรหันต์เช่นกัน   เพราะปลอดจากโยคะทั้ง    มี  กามโยคะ  ทิฏฐิโยคะ  ภวโยคะ  และอวิชาโยคะ  โยคะนั้นเป็น
กิเลสประเภทประกอบสัตว์ไว้ในวัฏสงสาร  เมื่อปลอดจากโยคะ  คือปราศจากโยคะก็พ้นจากวัฏสงสาร

    จิตที่ปราศจากโยคะ  จึงเป็นอุดมมงคล

    พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงแสดงมงคล  ๓๘   ดังนี้แล้วได้ตรัสว่าบุคคลใดกระทำมงคลทั้งหลายดัง
กล่าวแล้ว  บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ในที่ทั้งปวง  คือไม่พ่ายแพ้ข้าศึก ๔ อย่างคือ  ขันธมาร ๑  กิเลสมาร ๑ 
อภิสังขารมาร ๑  และเทวปุตตมาร ๑  แม้อย่างใดอย่างหนึ่ง  ผู้ที่จะพ้นจากข้าศึกทั้ง ๔ ได้ ต้องเป็นพระอรหันต์ 
เมื่อไม่พ่ายแพ้ก็ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทั้งปวง   คือถึงความสวัสดีในทุกอิริยาบถและทุกสถานที่   ความเดือด
ร้อนอันเกิดจากการคบคนพาลเป็นต้นย่อมไม่มี

    ในเวลาจบพระธรรมเทศนา  คือมงคลสูตรนี้  มีเทวดาที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ถึงแสนโกฏิ  ที่เป็น
พระโสดาบัน  พระสกทาคามี  และพระอนาคามีนั้นมากมาย

    รุ่งเช้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล่าเรื่องนี้ให้ท่านพระอานนท์ฟัง  แล้วทรงให้ท่านอานนท์เรียนมงคล 
๓๘  ท่านพระอานนท์เรียนแล้ว  ก็บอกเล่าให้ภิกษุทั้งหลายเรียน  และได้มีผู้เล่าเรียนสืบต่อกันมาจนบัดนี้

    ท่านที่ต้องการความสุขความเจริญทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ตลอดจนเข้าถึงนิพพานพึงประพฤติตาม
มงคล  ๓๘ ประการนี้

    ก็เป็นอันจบมงคลสูตร  ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในขุททกนิกาย  ขุททกปาฐะ  ข้อ  ๔-๕ 
และอรรถกถาเพียงเท่านี้


http://www.96rangjai.com/merit/sacredlife.html#28