วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ขยายความมงคล ๓๘ ข้อ ๒๑-๒๕



๒๑.  ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๒๑  ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลายเป็นอุดมมงคล  ก็ความไม่ประมาทนั้น
ได้แก่  สติ  ความระลึกได้  คือระลึกอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย   ไม่ว่าจะเป็นกุศลทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ  สติ
จึงเหมือนหางเสือเรือ  ที่จะทำให้เรือแล่นฝ่าอันตราย  ตรงไปสู่จุดหมายในที่สุด  คำว่าธรรมทั้งหลาย  จึงได้แก่กุศล
ธรรมทั้งหลายตั้งแต่กุศลขั้นทาน  ขั้นศีล  ไปจนถึงขั้นภาวนา  ซึ่งล้วนอาศัยสติความไม่ประมาททั้งสิ้นจึงเกิดขึ้นได้ 
เหมือนพระจักขุบาล  เป็นผู้ไม่ประมาท  สมาทานเนสัชชิกธุดงค์  คือไม่นอนตลอด ๓ เดือน  จนเกิดโรคตา  หมอให้
ยาตามาหยอด  ท่านก็ไม่ยอมนอนหยอดยา  แต่ได้บำเพ็ญเพียรเจริญกัมมัฏฐานโดยไม่ย่อท้อ  พอถึงวันออกพรรษา 
ตาทั้ง  ๒ ข้างของท่านก็บอดพร้อมกับการบรรลุเป็นพระอรหันต์

    นี่ก็คือผลของความไม่ประมาท  ไม่ขาดสติในกุศลธรรมทั้งหลายนั่นเอง  ความไม่ประมาทในธรรม
ทั้งหลายจึงเป็นอุดมมงคล

๒๒.  ความเคารพ 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๒๒  ความเคารพเป็นอุดมมงคล  ความเคารพนั้นสามารถจะแสดงออกได้ทั้ง
ทางกาย  ทางวาจา  และทางใจ  พระพุทธเจ้าทรงแสดงความเคารพไว้ในที่ ๗ สถานคือ
    ๑.  เคารพในพระพุทธเจ้า
    ๒.  เคารพในพระธรรม
    ๓.  เคารพในพระสงฆ์
    ๔.  เคารพในสิกขา  คือในศีลสิกขา
    ๕.  เคารพในสมาธิ  คือเคารพในสมาธิภาวนา
    ๖.  เคารพในความไม่ประมาท  คือระลึกในโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ
    ๗.  เคารพในปฏิสันถารการต้อนรับ  ไม่ว่าจะเป็นการต้อนรับด้วยอามิสมี  ข้าว  น้ำ เป็นต้นหรือต้อน
รับด้วยธรรมะ  มีการให้สติความไม่ประมาท  เป็นต้น

    ถ้าความเคารพทั้ง ๗ ประการนี้ยังดำรงอยู่ตราบใด  พระศาสนาก็ยังดำรงอยู่ไม่เสื่อมไปตราบนั้น  ผู้ที่
เคารพในฐานะทั้ง ๗ เหล่านี้  ชื่อว่าไม่เสื่อมจากสกุล ทั้งตั้งอยู่ใกล้นิพพานด้วย  ความเคารพจึงจัดเป็นอุดมมงคล
อีกประการหนึ่ง

๒๓.  การอ่อนน้อมถ่อมตน 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๒๓  การอ่อนน้อมถ่อมตน   ความประพฤติถ่อมตนเป็นอุดมมงคล   ความประ
พฤติถ่อมตนนั้นได้แก่ความไม่พองลม   คือไม่ยกตนข่มท่าน   ไม่ถือตัวว่ามีชาติตระกูลสูง   มีความรู้สูง   มียศสูง 
เป็นต้น  แล้วเหยียบย่ำดูถูกผู้ที่มีชาติตระกูลต่ำกว่า   มีความรู้น้อยกว่า   มียศต่ำกว่า  เป็นต้น   การยกตนข่มท่าน
จึงเป็นอกุศลประเภทมานะ  ทำให้เป็นคนกระด้างถือตัว  ไม่ยอมก้มหัวให้ใคร  คนมีมานะจึงไม่น่ารัก  ขาดความ
อ่อนน้อม  เป็นที่รังเกียจของผู้คบหาในปัจจุบัน  และทำให้เกิดในตระกูลต่ำในภายหน้า  ทำให้พลาดจากคุณวิเศษ
ที่ควรจะได้   เหมือนดังครูสัญชัยเวลัฏฐบุตร   ที่เคยเป็นครูของท่านพระสารีบุตร  และท่านพระมหาโมคคัลลานะ 
ในสมัยที่ยังมิได้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า  เดิมท่านทั้งสองบวชเป็นปริพาชกในสำนักของครูสัญชัย เรียนจนจบ
ความรู้ที่ครูสอนให้  เห็นว่ายังไม่ใช่ทางหลุดพ้น  จึงลาอาจารย์ไปแสวงหาทางหลุดพ้น ท่านพระสารีบุตรได้พบท่าน
พระอัสสชิอรหันตสาวก  ฟังธรรมของท่านแล้วบรรลุเป็นพระโสดาบัน  เมื่อได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วก็นำธรรมะ
ที่ได้ฟังนั้นไปเล่าให้ท่านพระมหาโมคคัลลานะผู้เป็นสหายฟัง ท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน
เช่นกัน  เมื่อท่านทั้งสองบรรลุธรรมแล้วก็ใคร่จะไปเฝ้าพระบรมศาสดา  ก่อนไปได้ชักชวนครูสัญชัยอาจารย์เก่าของ
ตนให้ไปด้วย  ครูสัญชัยทั้งๆ  รู้ว่าการไปเฝ้าพระบรมศาสดาเป็นการไปดีมีประโยชน์  แต่ด้วยมานะว่าตนเป็นครูมี
ลูกศิษย์ลูกหามาก  จะยอมตนเป็นศิษย์ของพระสมณโคดม  ซึ่งเด็กกว่าได้อย่างไร  จึงไม่ยอมไป เป็นเหตุให้พลาด
โอกาสคือมรรค  ผล  นิพพาน   ที่ควรจะได้   นี่คือโทษของมานะ   ความกระด้างถือตัว   ส่วนท่านพระสารีบุตรและ
พระมหาโมคคัลลานะ   เมื่อได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดาบวชแล้วก็ได้เป็นพระอรหันต์และได้เป็นพระอัครสาวกขวา
ซ้ายของพระศาสดาด้วย

    ความมีมานะจึงไม่ดีเลย  ส่วนความไม่มีมานะ  ประพฤติถ่อมตนเป็นอุดมมงคล

๒๔.  ความสันโดษ 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๒๔  ความสันโดษเป็นอุดมมงคล  ความสันโดษนั้นแปลว่าความยินดี  ซึ่งได้
แก่ความยินดี ๓ อย่างคือยินดีตามที่ได้มา ๑  ยินดีตามกำลัง ๑  ยินดีตามสมควร ๑  บุคคลที่ยินดีในฐานะทั้ง ๓ นี้
แล้วย่อมจะไม่โลภ  ไม่อยากได้  ไม่ต้องการเกินสมควร  การไม่รู้จักสันโดษจึงมีโทษ  ดังเรื่องของภิกษุณีรูปหนึ่ง
ในสมัยพุทธกาล

    ในกรุงสาวัตถี   อุบาสกเจ้าของไร่กระเทียมคนหนึ่งได้ปวารณาแก่สงฆ์ว่า   ผู้ใดต้องการกระเทียมก็
นิมนต์มาเอาไปได้   วันหนึ่งภิกษุณีชื่อถูลนันทาได้พาพวกภิกษุณีไปเก็บกระเทียมที่ไร่ของอุบาสกนั้นไปเป็นอัน
มาก   อุบาสกเห็นความโลภมากของพวกภิกษุณีก็ไม่พอใจกล่าวติเดียน   พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบจึงทรง
บัญญัติ  ห้ามฉันกระเทียม  รูปใดฉันเป็นอาบัติปาจิตตีย์

    นี่คือโทษของความไม่รู้จักพอ  เพราะขาดสันโดษนั่นเอง  สันโดษจึงเป็นอุดมมงคลอีกประการหนึ่ง

๒๕.  ความกตัญญู 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๒๕  ความกตัญญูเป็นอุดมมงคล  กตัญญูนั้นคือความเป็นผู้รู้คุณ  ที่ผู้อื่น
กระทำแล้วแก่ตน   เมื่อใครเขาทำคุณให้แก่เรา   ไม่ว่ามากหรือน้อย   ก็นึกถึงคุณของเขา   คิดจะตอบแทนคุณ
ของเขา  การตอบแทนคุณเรียกว่า  กตเวที   กตัญญูจึงมาคู่กับกตเวทีเสมอ   พระพุทธเจ้าตรัสถึงบุคคลที่หาได้
ยาก    จำพวกคือ 
    บุพการี  ผู้ที่กระทำคุณแก่เราก่อนมีบิดามารดา  ครู  อาจารย์  เป็นต้น ๑ 
    กตัญญูกตเวที  ผู้ที่รู้คุณที่เขาทำแล้วแก่ตนและตอบแทนคุณผู้นั้น   มีการตอบแทนคุณ  มารดาบิดา
ครูอาจารย์  เป็นต้น ๑

    ก็มารดาบิดา  ท่านให้กำเนิดและเลี้ยงดูเรามาก่อนใครๆ  ส่วนครูอาจารย์ก็ให้วิชาความรู้แก่เรารอง
มาจากบิดามารดา   ท่านเหล่านี้จึงเป็นผูทำคุณแก่เราก่อน  สมควรที่เราจะตอบแทนคุณท่านในเมื่อมีโอกาส 
การกระทำเช่นนี้ได้รับการยกย่องสรรเสริญในเวลามีชีวิตอยู่  กับเป็นเหตุให้เกิดในสุคติโลกสวรรค์เมื่อตายไป
แล้ว

    เรื่องราวของผู้ที่มีความกตัญญูนั้นมีมากทั้งในอดีตและปัจจุบัน   อย่างท่านพระอานนท์กตัญญูรู้คุณ
ของพระบรมศาสดา   ยอมเอาตนเข้าขวางช้างนาฬาคีรีที่พระเทวทัตปล่อยมา   หวังจะให้ทำร้ายพระพุทธเจ้า 
แต่ด้วยอำนาจพระเมมตา   ช้างไม่อาจทำร้ายพระพุทธเจ้าได้   แม้ท่านสารีบุตรก็ได้รับยกย่องจากพระบรม
ศาสดาว่าเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที  กล่าวคือท่านพระสารีบุตรเคยได้อาหารทัพพีหนึ่งจากราธะพราหมณ์ก็
ไม่ลืม   เมื่อราธะพราหมณ์ต้องการจะบวชเมื่อแก่  พระสงฆ์ไม่ยอมบวชให้  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า 
ใครรู้จักพราหมณ์ผู้นี้บ้าง  ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า  ท่านรู้จัก  เพราะเคยถวายอาหารแก่ท่าน    ทัพพี 
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงรับสั่งให้  ท่านพระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์บวชให้   ด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจาเป็นภิกษุ
ในพระศาสนา

    ความกตัญญูรู้คุณท่าน   จึงเป็นเหตุให้ได้รับความสุข   ความเจริญทั้งในโลกนี้และโลกหน้า   ความ
กตัญญู  จึงจัดเป็นอุดมมงคลอีกประการหนึ่ง

http://www.96rangjai.com/merit/sacredlife.html#28