วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ขยายความมงคล ๓๘ ข้อ ๒๖-๓๐



๒๖.  การฟังธรรมตามกาล 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๒๖  การฟังธรรมตามกาลเป็นอุดมมงคล  อรรถกถาท่านกล่าวว่า  บุคคล
ใดมีใจฟุ้งซ่าน  ถูกวิตกอย่างใดย่างหนึ่งมีกามวิตก  คือการตรึกถึงกามเป็นต้นครอบงำ  การฟังธรรมเพื่อขจัด
ความฟุ้งซ่านในขณะนั้น  เรียกว่าการฟังธรรมตามกาล  เพราะละอกุศลวิตกเป็นต้นได้

    อีกอย่างหนึ่ง  การเข้าไปหากัลยาณมิตรแล้วฟังธรรม  เพื่อกำจัดความสงสัยในกาลใด  กาลนั้นชื่อว่า
การฟังธรรมตามกาล   การฟังธรรมตามกาลจัดเป็นอุดมมงคล   เพราะเป็นเหตุให้ได้บรรลุคุณวิเศษต่างๆ 
มีการละนิวรณ์เป็นต้นได้  นอกจากนั้นยังกำจัดกิเลสให้สิ้นไปได้ด้วย
    การฟังธรรมมีอานิสงส์ถึง  ๕*  ประการคือ
    ๑.  ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยได้ฟัง
    ๒.  แม้ฟังแล้วเมื่อได้ฟังซ้ำอีกย่อมเข้าใจและจำได้
    ๓.  ทำให้บรรเทาหรือคลายความสงสัยได้
    ๔.  ทำความเห็นให้ถูกตรง  ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิ
    ๕.  จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส
*อัง.  ปัญจกนิบาต  ข้อ ๑๐๒

    ส่วนการฟังธรรมตามกาลมีอานิสงส์  ๕*  ประการ  ดังที่ท่านพระนันทกะแสดงให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า
    ๑.  ผู้ฟังย่อมเป็นที่รักที่พอใจ  เป็นที่ยกย่องของพระศาสดา
    ๒.  ผู้ฟังย่อมซาบซึ้งในอรรถะและธรรมะ  คือเหตุและผลของธรรมนั้นๆ
    ๓.  ย่อมแทงตลอดในธรรมะนั้นๆ
    ๔.  ย่อมได้รับคำสรรเสริญจากเพื่อนพรหมจรรย์
    ๕.  ทำให้ปรารภความเพียร  เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่แจ้ง
*อัง.  นวกนิบาต  ข้อ ๒๐๘

    อีกอย่างหนึ่ง  พระบรมศาสดาตรัสว่า  การฟังธรรมตามกาลอันบุคคลบำเพ็ญโดยชอบ  ให้เป็นไปโดย
ชอบ  ย่อมให้ถึงความสิ้นอาสวะโดยลำดับ

    ส่วนอาจารย์บางท่านกล่าวว่า
    ๑.  การฟังธรรมเป็นเหตุให้พระศาสนารุ่งเรืองอยู่ได้นาน
    ๒.  ตายไปแล้วได้เกิดในสุคติโลกสวรรค์
    ๓.  จะได้ตรัสรู้มรรคผล
    ๔.  เป็นอุปนิสสัยปัจจัยไปในภพภายหน้า

    ดังเรื่องนี้เป็นตัวอย่าง
    แม่ไก่ตัวหนึ่งฟังภิกษุรูปหนึ่งสาธยายธรรม  ด้วยความเลื่อมใส  ถูกนกเหยี่ยวโฉบไป  มีจิตนึกถึงเสียง
พระธรรมนั้นตายไปบังเกิดเป็นธิดากษัตริย์  ออกบวชเจริญฌานตายแล้วไปเกิดในพรหมโลก  จุติจากพรหมโลก
มาเกิดเป็นลูกเศรษฐี   ตายแล้วไปเกิดเป็นสุกร  ได้เห็นพระพุทธเจ้ามีจิตเลื่อมใส  ตายแล้วเกิดเป็นธิดากษัตริย์
อีก   จากนั้นไปเกิดในบ้านคามวาสีเป็นลูกพ่อค้า  แล้วเกิดเป็นลูกกุฎุมพีในเมืองอนุราะชื่อสุมนา  เมื่อเป็นสาวได้
เป็นภริยาของมหาอำมาตย์  อยู่มาวันหนึ่งพระอุตตระพาภิกษุสงฆ์เข้าไปบิณฑบาตที่บ้านของนางสุมนา  เห็นนาง
แล้วก็กล่าวว่า  ลูกสุกรมาเกิดในที่นี้แล้ว  นางได้ฟังว่าตนเคยเกิดเป็นลูกสุกรก็สลดใจ  เกิดความเบื่อหน่าย จึงลา
สามีออกบวชเป็นภิกษุณี  เจริญสติปัฏฐาน ๔ จนเกิดวิปัสสนาญาณ  บรรลุเป็นพระอรหันต์  นี่ก็ด้วยอานิสงส์ของ
การฟังธรรมตั้งแต่ครั้งยังเป็นแม่ไก่   อันเป็นอุปนิสัยปัจจัยสืบต่อกันมาเป็นลำดับถึง  ๑๒  ชาติจึงบรรลุ  มรรคผล 
เป็นพระอรหันต์  เป็นการสิ้นสุดวัฏฏะอย่างแท้จริง

    เพราะฉะนั้นการฟังธรรมตามกาลจึงเป็นอุดมมงคล

๒๗.  ความอดทน 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๒๗  ขันติ  ความอดทน  อดกลั้นเป็นอุดมมงคล  บุคคลที่อดทนต่อคำด่าว่า 
อดทนต่อความเจ็บใจ  อดทนต่อความเย็น  ความร้อน  ไม่หวั่นไหวในอารมณ์อันไม่น่าชอบใจ  จัดเป็นผู้มีขันติ 
เป็นผู้ที่พระบรมศาสดาทรงยกย่อง  สรรเสริญ  เพราะบุคคลเช่นนี้ย่อมสามารถบรรลุคุณวิเศษได้

    ขันติย่อมมีได้เพราะอาศัยหิริ  ความละอายบาป  และโอตตัปปะ  ความสะดุ้งเกรงกลัวบาป  พูดง่ายๆ 
คือเห็นโทษของโทสะ  ความโกรธ  ความไม่ชอบใจ   ซึ่งเป็นธรรที่ตรงข้ามกับขันติ   คือ   อโทสะ  ความไม่โกรธ 
ผู้ที่อดทนได้ไม่โกรธตอบจึงเป็นที่ยกย่องของบัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น  แม้ผู้ที่เห็นโทษของการเกิด
แล้ว  อดทนต่อความทุกข์ที่ได้รับก็จัดเป็นขันติ  ดังขันติความอดทนของพระเตมีย์โพธิสัตว์ที่ไม่ยินดีในราชสมบัติ
เพราะเกรงว่าเมื่อเสวยราชสมบัติแทนพระราชาบิดาแล้ว  จะต้องฆ่าคน  อันเป็นเหตุให้ตกนรกจึงสู้ทนทำเป็นคน
ใบ้อยู่ถึง ๑๖ ปี  นี่จัดเป็นยอดของขันติ

    หรืออย่างที่ภิกษุที่เจริญกัมมัฏฐานรูปหนึ่ง  เจริญกัมมัฏฐานอยู่ในถ้ำใกล้เจติยบรรพต   ที่นั้นน้ำค้าง
ตกมาก   อากาศหนาวเย็น  จนท่านเป็นเหน็บชาไปทั้งกาย   ท่านพิจารณาว่าความหนาวในที่นี้ยังน้อยกว่าความ
หนาวเย็นในโลกันตนรก  ซึ่งหนาวเย็นจนร่างกายของสัตว์ละลายได้  ท่านพิจารณาอย่างนั้นแล้ว  มีขันติ  อดทน
ต่อความหนาวโดยไม่หวั่นไหว   แล้วก็ได้สำเร็จมรรคผล   ขันติความอดทนจึงมีประโยชน์มาก   เพราะสามารถ
ทำลายบาปอกุศลได้  นี่เป็นตัวอย่างของผู้ที่อดทนต่อความหนาว  เพราะเห็นภัยในนรก

    บางท่านเห็นภัยอันเกิดจากความร้อนในอเวจีมหานรก  จึงสู้อดทนต่อความร้อนในเมืองมนุษย์  เร่ง
บำเพ็ญเพียร   เจริญสมณธรรมจนได้บรรลุมรรคผล  เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า  ขันติเป็นอุดม
มงคล  เพราะเป็นเหตุให้ถึงนิพพานในที่สุด

๒๘.  ความเป็นผู้ว่าง่าย 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๒๘  ความเป็นผู้ว่าง่ายเป็นอุดมมงคล  ผู้ไม่มีมานะ  มีใจเบิกบาน  น้อมรับ
คำสอนของบัณฑิตโดยเคารพ  ผู้นั้นเรียกว่าเป็นผู้ว่าง่าย   ผู้ว่าง่ายย่อมได้รับประโยชน์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า  ไม่มี
ใครรังเกียจที่จะแนะนำสั่งสอน  ดังเรื่องของท่านพระราธะผู้บวชเมื่อแก่โดยมีท่านพระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์  ท่าน
พระสารีบุตรจะแนะนำสั่งสอนอย่างใดก็รับฟังและปฏิบัติตามโดยเคารพ  มิได้ทะนงตนว่าเป็นผู้แก่กว่า  ในไม่ช้าก็
ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์  นี่ก็เพราะความเป็นผู้ว่าง่ายนั่นเอง  ความว่าง่ายจึงเป็นอุดมมงคล

    ส่วนความเป็นผู้ว่ายากนั้น  เป็นอวมงคล  มีโทษมากดังเรื่องของนันทยักษ์   ซึ่งเห็นท่านพระสารีบุตร
นั่งเข้านิโรธสมาบัติอยู่ในที่แจ้ง  จึงบอกกับเพื่อนเพื่อนยักษ์ด้วยกันว่า  สหาย   เราจะตีศีรษะสมณะผู้นี้ให้ท่านดู 
เพื่อนยักษ์ก็ห้ามไม่ให้ทำ  เพราะสมณนั้นมีฤทธิ์มาก  มีอานุภาพมาก  ทั้งมีคุณสูงยิ่ง  เพื่อนยักษ์ห้ามถึง ๓ ครั้ง 
นันทยักษ์ก็ไม่เชื่อฟังยังขืนเอากระบองตีศีรษะท่านอย่างแรง  แต่ท่านพระสารีบุตรก็ไม่เป็นอันตรายใดๆ  เพียง
แต่เจ็บศีรษะนิดหน่อย  ส่วนนันทยักษ์เองกลับถูกแผ่นดินสูบลงไปไหม้อยู่ในอเวจีมหานรก  ทั้งนี้ก็เพราะความว่า
ยากของนันทยักษ์ที่ไม่เชื่อคำตักเตือนของเพื่อน

    เพราะฉะนั้นความว่ายากจึงมีโทษ  ส่วนความว่าง่ายมีแต่คุณ  ความว่าง่ายจึงเป็นอุดมมงคล

๒๙.  การเห็นสมณะ 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๒๙  การเห็นสมณะเป็นอุดมมงคล  คำว่าสมณะ  แปลว่าผู้สงบ  ในที่นี้สมณะ
หมายถึงบรรพชิตหรือนักบวช  ที่ได้รับการฝึกฝนอบรมกายวาจาใจ  และปัญญา  เพื่อดับกิเลสมาแล้วเป็นอย่างดี 
หรือ  หมายถึงสมณะที่หมดจดจากกิเลส   เป็นพระอรหันต์แล้ว   การได้เห็น  ได้เข้าใกล้  ได้ฟัง  ได้ระลึกถึง 
ได้อุปัฏฐาก  บำรุงบรรพชิตทั้งหลาย  ผู้ถึงพร้อมด้วยความฝึกตนอย่างสูง ย่อมเป็นเพื่อความสงบระงับจากกิเลส 
แม้พระพุทธเจ้าของเราก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า   ก็ทรงพบเห็นสมณะคือพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ
มาแล้วถึง ๒๔ พระองค์  ได้เข้าใกล้  บำรุงและฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเหล่านั้นมาก่อน  จึงสามารถตรัสรู้เป็น
พระพุทธเจ้าได้  แม้พระสาวกทั้งหลายก็เช่นกัน

    ท่านกล่าวว่าเมื่อได้พบเห็นสมณะแล้ว  ยังไม่ต้องยกมือเคารพ  เพียงแต่แลดูด้วยความรักและความ
เลื่อมใสเท่านั้น  ก็จะเป็นผลให้นัยน์ตาแจ่มใส ไม่ฝ้าฟาง ไม่เป็นต้อนับเป็นพันชาติทั้งจะได้สมบัติในเมืองมนุษย์
และเทวดาถึงแสนกัป

    การที่บุคคลได้รับมนุษย์สมบัติ  เพราะได้พบเห็นสมณะมาก่อนนั้นไม่น่าอัศจรรย์   เพราะมนุษย์เป็น
สัตว์ที่มีปัญญา  แต่สัตว์เดรัจฉานมีแต่ความเชื่อความเลื่อมใส  ขาดปัญญา  เมื่อได้เห็นสมณะแล้วได้สมบัติใน
สวรรค์นั่นซิน่าอัศจรรย์  ดังเรื่องของนกเค้าตัวนี้

    เรื่องนี้เกิดขึ้นสมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่  ถ้ำอินทสาละคูหา  เขตเมืองราชคฤห์  นกเค้าตัว
หนึ่งอาศัยอยู่ที่ถ้ำนั้น   ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วเลื่อมใส   เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกบิณฑบาต  ก็
ได้บินตามไปส่ง   เมื่อเสด็จกลับก็บินมารับ   วันหนึ่งนกเค้าบินลงมาจากภูเขา   ประคองปีกทั้งคู่น้อมศีรษะลงกระ
ทำอัญชลี  พระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรเห็นแล้วทรงแย้มพระโอษฐ์  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า  นกเค้าตัวนี้
มีจิตเลื่อมใสโสมนัส  ในเราทั้งหลาย  ผู้มีศีลงาม  มีธรรมงามในครั้งนี้  ตายไปจะเกิดอยู่สุคติถึงแสนกัป  แล้วจะได้
ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อโสมนัส   ด้วยอานิสงส์ที่ได้เห็นพระพุทธเจ้า และพระอริยสาวกแล้วเกิดความโสม
นัสเลื่อมใส  นี่คือผลของการได้เห็นสมณะแล้วเลื่อมใส

    ความจริงแล้ว   การได้เห็นสมณะผู้ปราศจากกิเลสนั้นเป็นมงคล   อย่างน้อยก็เป็นกุศลวิบากทางตา 
เมื่อเห็นท่านแล้วจิตของใครจะเลื่อมใสหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  ถ้าเห็นแล้วเลื่อมใส  กุศลก็เกิด  แต่ถ้าเห็นแล้ว
จิตไม่เลื่อมใส  โทสะความไม่ชอบใจอันเป็นอกุศลก็เกิด  ในสมัยนี้เราอาจจะหาสมณะผู้งามพร้อมอย่างนั้นได้ยาก 
ถึงกระนั้นการเห็นนั้นก็ยังจัดเป็นมงคลเพราะได้เห็นผ้ากาสาวพัสตร์  อันถือว่าเป็นธงชัยของพระอรหันต์  แล้วน้อม
จิตไปในพระคุณของพระพุทธเจ้า  ผู้เป็นพระประมุขแห่งสงฆ์  หรือน้อมจิตไปในคำสอนของท่าน  หรือน้อมจิตไป
ในพระคุณของพระอริยสงฆ์    เมื่อน้อมจิตไปอย่างนี้    ความเลื่อมใสโสมนัสย่อมเกิดขึ้นได้    การเห็นนั้นจึงเป็น
มงคล  อย่างสูงสุด  เพราะเป็นปัจจัยให้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ในเบื้องต้น  บรรลุมรรค  ผล  นิพพานในที่สุด

    การเห็นสมณะ  จึงเป็นอุดมมงคล

๓๐.  การสนทนาธรรมตามกาล 
    ขยายความมงคลข้อที่ ๓๐  การสนทนาธรรมตามกาลเป็นอุดมมงคล  ในเรื่องนี้ท่านกล่าวว่า  ภิกษุผู้
ทรงพระสูตร ๒ รูปสนทนาพระสูตรกัน  ภิกษุ ๒ รูปผู้ทรงพระวินัย สนทนาพระวินัยกัน  ภิกษุ ๒ รูปผู้ทรงพระอภิธรรม
สนทนาพระอภิธรรมกัน  ภิกษุผู้กล่าวชาดก  สนทนาชาดกกัน  ภิกษุผู้สนใจศึกษาอรรถกถา  ก็สนทนาอรรถกถากัน 
เพื่อชำระจิตที่ถูกความหดหู่  ความฟุ้งซ่าน  หรือความสงสัยครอบงำ  ในเวลาพลบค่ำ หรือในเวลาย่ำรุ่ง  การสนทนา
ธรรมตามกาล  ตามเวลา  อย่างนี้ชื่อว่า  การสนทนาธรรมตามกาล  ก็การสนทนาธรรมตามกาลนี้  นอกจากจะช่วย
บรรเทาความหดหู่  ฟุ้งซ่าน  ความสงสัย  เป็นต้นแล้ว  ยังเป็นเหตุให้ได้รับคุณทั้งหลายมีความฉลาดในปริยัติธรรม 
เป็นต้น

    ผู้ที่สนทนาธรรมตามกาลย่อมได้อานิสงส์ ๕* ประการคือ
    ๑.  เป็นที่ยกย่องของพระศาสดา
    ๒.  ย่อมเข้าใจเนื้อความของธรรมนั้นๆ
    ๓.  ย่อมแทงตลอดเนื้อความอันลึกซึ้งด้วยปัญญา
    ๔.  ย่อมได้รับคำสรรเสริญจากเพื่อนพรหมจรรย์
    ๕.  ย่อมปรารภความเพียร  เพื่อทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่แจ้ง  สำหรับผู้ที่จบกิจพรหมจรรย์  ย่อม
ประกอบธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน (คือเข้าฌานหรือผลสมาบัติ)
*นันทกะสูตร อํ. นวก.  ข้อ  ๒๐๘


    ด้วยเหตุนี้การสนทนาธรรมตามกาลจึงเป็นอุดมมงคล

http://www.96rangjai.com/merit/sacredlife.html#28